ความถ่อมตน: คือ การพิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง
รู้จักตนเองไม่อวดตัวดื้อรั้น และยอมรับคุณงานความดีของ
ผู้อื่นมาเป็นแบบปฏิบัติต่อตนเองได้อย่างเต็มที่
ลักษณะผู้มีความถ่อมตน: ผู้ที่มีความถ่อมตน จะเป็นผู้รู้
คุณค่าของตนเองตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ตั้งตนอยู่ในปัญญา
รู้จักตัวเองดีว่าตัวเรา มีอะไร ไม่มีอะไร ดังนั้นผู้ที่มีความถ่อมตน
จะมีลักษณะการแสดงออกที่ดีเด่นกว่าคนทั้งหลาย เช่น
๑. มีกริยาอ่อนน้อม: คือ การแสดงกริยาท่าทางที่นุ่มนวล
ต่อคนทั่วไป รู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่ตีตนเสมอท่าน สงบเสงี่ยม
๒. มีวาจาอ่อนหวาน: คือ การพูดจาสุภาพอ่อนโยน ซึ่งออก
มาจากจิตใจที่สะอาดนุ่มนวล ไม่ก้าวร้าวแข็งกระด้างในการ
พูด ไม่พูดโอ้อวด ยกตัวข่มท่าน และเห็นใครทำดี ก็แสดง
ความจริงใจ ชมเชย เมื่อตนทำสิ่งที่ผิดพลาดก็กล่าวคำว่า
“ขออภัย”
๓. มีจิตใจอ่อนโยน: คือ ความนอบน้อมละมุนละม่อม
ถ่อมตัว แต่ไม่ใช่ความอ่อนแอ มีภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง แต่
มิใช่ความแข็งกระด้าง
นอกจากนี้ควรพยายามฝึกฝนตนเองให้มีจิตใจที่เปิดกว้าง
ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ถือเอาความคิด
ของตนเองเป็นใหญ่ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ใช้สติปัญญาปรับความคิดเห็นเข้าหากัน ย่อมมี
คุณประโยชน์เป็นการพัฒนาตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เปรียบดัง “รวงข้าวที่สมบูรณ์ จะไม่ชูรวง”..!