ประวัติความเป็นมา

watnum

วัดอุทกเขปสีมาราม เป็นสถานที่สัปปายะเน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม เหมาะแก่การศึกษา
และปฏิบัติธรรม สภาวัฒนธรรมจังหวัดชลบุรี คัดเลือกให้เป็นสถานที่นำร่องประเภท “ลานธรรม” ประจำจังหวัด
ได้รับพระราชทานรางวัล เสาเสมาธรรมจักร สาขาการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี ๒๕๔๙
จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ที่ตั้ง
วัดอุทกเขปสีมาราม เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ที่บ้านคลองกว้าง เลขที่ ๒๒ หมู่ที่ ๔ ตำบล วัดโบสถ์ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีที่ดินที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๒๒ แปลง รวมทั้งสิ้น ๓๓๔ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา เฉพาะที่ดินที่ตั้งวัดมี ๒๐ ไร่ ๑ งาน

ด้านทิศเหนือ และด้านทิศใต้ จรดที่เอกชน
ทิศตะวันออก ติดกับโรงเรียนอุทกวิทยาคม
ทิศตะวันตก ติดกับคลองกว้าง ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนัสนิคมไปทางทิศเหนือ ตามถนนศุขประยูร
เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๔ สายฉะเชิงเทรา – พนัสนิคม รวมระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร

ประวัติการสร้างวัด
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ พระชลโธปมคุณมุนี (พุฒ ปุณฺณกเถร) หรือเจ้าคุณเฒ่า เจ้าอาวาสวัดเขาบางทราย เมืองชลบุรี
เจ้าคณะภาคตะวันออก ดูแลคณะสงฆ์เมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม และเมืองบางละมุง ได้ออกตรวจพื้นที่ทางเรือ มาถึงแขวงบ้านวัดโบสถ์ เห็นว่าฝั่งซ้ายของคลองหลวงแห่งนี้น่าจะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นวัด แรกในเขตเมืองพนัสนิคม จึงเริ่มก่อสร้างอาคารเสนาสนะขึ้นกลาง “หนองหูช้าง” ทำให้ชาวบ้านเรียกว่า “วัดน้ำ” ก่อนจะมีชื่อเป็นทางการว่า “วัดอุทกเขปสีมาราม” เมื่อตั้งวัดขึ้นแล้วได้รับแรงศรัทธา จากชาวบ้านย่านวัดโบสถ์ และชุมชนใกล้เคียงให้ความอุปถัมภ์เรื่อยมา จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาอุโบสถหลังแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙

พระชลโธปมคุณมุนี (พุฒ ปุณฺณกเถร) เป็นบุตรจีนทองคำ อำแดงปาน ตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดขุนจันทร์ คลองบางกอกใหญ่ ธนบุรี เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๓๖๑ อายุ ๑๓ ขวบ บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดประยูรวงศ์อยู่ ๘ พรรษา อายุได้ ๒๑ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “ปุณฺณโก” พระศรีวิสุทธิ์วงศ์ (ฟัก) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (ภายหลังลาสิกขาออกมารับราชการได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร) ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งฐานานุกรมที่ พระครูสมุห์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อุปสมบทได้ ๘ พรรษา ได้ลาสิกขาออกมารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ และที่ ๔ รวม ๒๐ ปี ไดรับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น ขุนสาครวิสัย

จุลศักราช ๑๒๒๙ ท่านได้บรรพชาอุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่ออายุได้ ๔๙ ปี ที่วัดบุปผาราม ธนบุรี มีพระอมรโมฬี (นบ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดธัมมรักขิโต (เรือง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “ปุณฺณโก” เหมือนเมื่ออุปสมบทครั้งแรก เมื่ออุปสมบทแล้วได้เที่ยวแสวงหาวิเวกธรรมตามอัธยาศัย ล่วงไป ๓ พรรษา พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ซึ่งเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) ผู้สถาปนาวัดเขาบางทราย ได้อาราธนาให้มาจำพรรษาเป็นเจ้าอธิการวัดเขาบางทราย

ด้วยความสามารถทั้งการปกครองสงฆ์และการอบรมสั่งสอนประชาชนจนปรากฏแก่บ้านเมืองโดยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งพระครูเจ้าคณะเมือง ให้เป็น พระครูชลโธปมคุณมุนี จนอายุท่านล่วงมาถึง ๘๑ ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระราชายก ที่ พระชลโธปมคุณมุนี บังคับบัญชาภิกษุสามเณรใน ๓ หัวเมือง คือเมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม และเมืองบางละมุง พระชลโธปมคุณมุนี (พุฒ ปุณฺณกเถร) ตั้งวัดอุทกเขปสีมารามขึ้นแล้วยังเฝ้าติดตามดูแลมิได้ขาด จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๙ รวมสิริอายุได้ ๘๙ ปี พรรษา ๓๙

เจ้าอาวาสรูปที่ ๑ (พ.ศ.๒๔๖๐ – ๒๔๗๐)
พระครูสังฆวุฒิกร (เที่ยง ญาณอุชุโก)
ฐานานุกรมในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) ได้รับบัญชาพระเขมทัสสี (เอี่ยม เมฆิยเถร) เจ้าอาวาสวัดเขาบางทราย
ให้สร้างอุโบสถหลังแรก แม้ทุนทรัพย์จะไม่เพียงพอแต่ก็ให้จัดงานทำบุญขึ้นในวัด ซื้อกระเบื้องมุงหลังคา และปูพื้นอุโบสถจนสำเร็จ และทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๗

เจ้าอาวาสรูปที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๗๑ – ๒๔๘๑)
พระอธิการดำ จุลฺลโก
ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านช่วยสืบสาน งานสร้างวัดต่อมาอีก ๑๐ ปี

เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ (พ.ศ.๒๔๘๑ – ๒๕๐๕)
พระครูนิวาตวรคุณ (เกลื่อน มินินฺทโล ทองนพคุณ)
ในขณะที่พระครูนิวาตวรคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสอยู่นั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
(เจริญ ญาณวรเถร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสได้มาเป็นพระอุปัชฌาย์ให้การบรรพชาอุปสมบทกุลบุตร
ปีละ ๒๐ – ๓๐ รูป และในปีพ.ศ.๒๔๘๓ ท่านได้มาสร้างอาคารเรียนประถมศึกษาชื่อว่า “โรงเรียนอุทกวิทยากร”
เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น ตั้งอยู่ภายในวัด ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ตึกขาว” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เป็นตึกหลังแรกในอำเภอพนัสนิคม

และได้แจกเหรียญวัตถุมงคลรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งได้อนุญาตให้จัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกของการสร้างเหรียญสมเด็จฯ มอบให้แก่ผู้บริจากทรัพย์ในการสร้างอาคารเรียน ผู้ใดบริจาคทรัพย์จำนวน ๑ บาทจะได้รับแจกเหรียญกลม หรือเหรียญ รูปไข่รมดำ ผู้ใดบริจาค ๕ บาท จะได้รับแจกเหรียญกลมเงิน หรือเหรียญ รูปไข่เงิน ผู้ใดบริจาค ๑๐ บาท จะได้รับเหรียญกลมทองบรอนซ์ หรือเหรียญรูปไข่ทองบรอนซ์

ในปีเดียวกัน พระครูนิวาตวรคุณ มีความคิดริเริ่มจะหาดินถมบริเวณวัด จึงได้จัดงานก่อพระทรายดินขึ้น มีการ
จัดประกวดก่อพระทรายดินได้ดินเข้าวัดเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเริ่มสร้างถนนเรียบคลองกว้าง ตั้งแต่หน้าวัดออกไปถึงถนนศุขประยูร ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยขอที่จากชาวบ้านที่ถนนตัดผ่าน มีการถมบ่อ
เกือบตลอดสาย ต้องทำช่องสะพานให้น้ำไหลผ่าน ๑๑ – ๑๓ ช่อง ฤดูน้ำใช้เรือบรรทุกแกลบจากโรงสีทรัพยากร ตำบลวัดหลวง นำมาลงเป็นพื้นถนนชั้นล่างเสียก่อน แล้วจ้างคนขุดลอกดินจากคลองกว้างขึ้นมาถมในฤดูแล้ง
จ้างเป็นหลาๆละ ๕๐ สตางค์ ถึง ๑ บาท และคณะกรรมการวัดอุทกเขปสีมาราม ได้จัดงานประเพณีลอยกระทงขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ เพื่อนำเงินรายได้มาสร้างเขื่อนหินกันดินพังทลายตลอดสาย จึงเกิดงานประเพณีลอยกระทงขึ้นนับแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน

เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๐๕ – ๒๕๔๔)
พระครูวินัยวาที (เจริญ อติวุฑฺโฒ ธรรมรักษ์)

ได้ทำการรื้อถอนศาลาการเปรียญหลังเก่า และสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้นแทน ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้ร่วมกัน
กับพระราชสังวรญาณ (สนิท ถิรสินิทฺโธ) วัดศิลขันธ์ จังหวัดอ่างทอง และพระเขมสารโสภณ (ธรรมนูญ ธุวสีลเถร) วัดเขาบางทราย ซื้อที่ดินติดกับวัดตั้งโรงเรียนมัธยมประจำตำบลขึ้นชื่อว่า “โรงเรียนอุทกวิทยคม” เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังสร้างฌาปนสถาน ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ และในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้ทำการซื้อดินมาถมบริเวณวัดจนพ้นระดับน้ำท่วม และเป็นเวลาที่เจ้าอาวาสเห็นว่าอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรมเสียหายเกินกว่าที่จะซ่อมแซมได้ จึงได้บอกบุญชาวบ้าน โดยท่านเจ้าอาวาสเริ่มต้นบริจาคด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวเป็นเงินจำนวน ๑ ล้าน ๕ แสนบาท เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๕๓๗ แล้วเสร็จเรียบร้อย และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๒๓มกราคม พ.ศ.๒๕๔๒ และทำการรื้อถอนอุโบสถหลังเก่าออก และท่านได้มรณภาพก่อนงานผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตเมื่อวันที่ ๙ – ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๕

เจ้าอาวาสรูปที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๔๕ – ปัจจุบัน)
พระชลญาณมุนี (สมโภช ธมฺมโภชฺโช นาคสิทธิเลิศ น.ธ.เอก, ป.ธ.๓, ศน.บ., พธ.ม., ศศ.ด.)

ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (สนตงฺกุรเถร) ขณะดำรง
สมณศักดิ์ที่พระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร มีบัญชาให้มารักษาการเจ้าอาวาสเมื่อวันที่
๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ จากนั้น ๓ เดือน จึงได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อเข้ามาปกครองวัดได้เริ่มปรับปรุงพัฒนาวัด ทั้งด้านการศึกษาและถาวรวัตถุให้สง่างามขึ้นโดยลำดับ

ด้านการศึกษา

เปิดทำการเรียนการสอนนักธรรม ทั้งแผนกธรรมและบาลี, มัธยมศึกษา, / วัดอุทกเขปสีมาราม เป็นสนามสอบธรรมศึกษาสนามหลวง ประจำจังหวัดชลบุรี และเป็นที่ตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมครูสมาธิ

ด้านการก่อสร้างถาวรวัตถุ

๑. สร้างกำแพงศิลาแลงขึ้นรอบวัด พร้อมทั้งป้ายชื่อวัดด้านคลองกว้าง
๒. สร้างถนนศิลาแลง – คอนกรีต พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ปรับภูมิทัศน์บริเวณวัดให้ร่มรื่นกลมกลืนเป็นธรรมชาติ
๓. สร้างศาลาท่าน้ำ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ในเทศกาลลอยกระทงของวัด
๔. บูรณปฏิสังขรณ์อาคารไม้หลังใหญ่ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เคยใช้เป็นที่พำนัก โดย
ตระกูล “ธีระภัทรไพศาล” เป็นเจ้าภาพ สมเด็จพระญาณวโรดม (สนฺตงฺกุรเถร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ประทานนามให้ใหม่ว่า “กุฏิฑุติยภูมิ” ซึ่งมีความหมายดั้งเดิมว่า “สองชั้น” (เล้าเต้ง)
๕. สร้างหมู่เรือนไทยแฝดด้วยไม้สักทอง เพื่อเป็นที่รองรับพระเถรผู้ใหญ่ โดยนางสาวน้อมศรี เหลืองอ่อน และ
ครูประยงค์ เหล่าสินชัย บุตรี ขุนโบสถ์วิบูลย์(ชวน เก็จมยูร) อดีตกำนันตำบลวัดโบสถ์ เป็นเจ้าภาพ ต่อมาใช้เป็น
เรือนประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมา
วัดอุทกเขปสีมาราม
๖. สร้างกุฏิสงฆ์ ลักษณะเรือนไทย จำนวน ๑๐ หลัง โดยคณะศรัทธารับเป็นเจ้าภาพสร้างถวายรายละ ๑ หลัง
๗. สร้างซุ้มประตูขนาดใหญ่ทรงไทย ทางเข้าวัดด้านถนนศุขประยูร และซุ้มทางเข้าวัดรวมจำนวน ๒ ซุ้ม โดย พณฯท่าน ดร.ประโยชน์ เนื่องจำนงค์ รับเป็นเจ้าภาพ
๘. สร้างกุฏิสงฆ์ ลักษณะเรือนไทยหลังใหญ่ โดยนายน็อต น.ส.เรณู วนิชชานนท์ น้อมถวายด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว
ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในวโรกาสได้รับพระราชทานผ้ากฐินพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
๙. สร้าง “ลานธรรมเจริญรุ่งเรือง” โดยตระกูล เจริญรุ่งเรือง เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปหินศิลา
ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็มพระสังฆราช ทรงประทานไว้ประจำจังหวัดชลบุรี
๑๐. สร้างศาลา ๙๐ ปี สมเด็จพระญาณวโรดม (สนฺตงฺกุรเถร) โดย นางประไพ วงศ์ดีไทย บริษัท พี.พี.พาราวูด จำกัด น้อมถวายด้วยทุนทรัพย์จากเงินบริจาคในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระกฐินพระราชทาน
๑๑. สร้าง เรือนการเวก เป็นสถานที่ถวายน้ำปานะพระภิกษุสามเณร และที่ปฏิสันถาร
๑๒. สร้าวกุฏิเรือนปั้นหยากลางน้ำ โดยตระกูล “กฤษณีไพบูลย์” ออกแบบโดย อ.ปรีชา สัตตเวหะ
๑๓. สร้างศาลาเรือนไทย “เรือนกระชับมิตร” ร่วมกับสมาคม YWCA และเจ้าอาวาสวัดเนินตามาก มอบให้โรงเรียนอุทกวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่ตั้งอยู่บนที่ดินวัด
๑๔. สร้างห้องน้ำสาธารณะ จำนวน ๒๒ ห้อง โดยคณะศรัทธารับเป็นเจ้าภาพสร้างถวาย รายละ ๑ ห้องน้ำ

ฯลฯ